อัจฉริยภาพแห่งชิราคาวาโกะ

"สวย" ด้วยองศาที่เท่ากัน

ในภาษาญี่ปุ่น มีคำว่า 合掌造り (กัสโชซึคุริ) ที่หมายถึงการพนมมืออธิษฐาน และในขณะเดียวกันก็เป็นชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุสองถึงสามร้อยปี ที่กระจายกันไปตามแนวเหนือจรดใต้ตามที่ราบในหุบเขาแถบเจแปนแอลป์

สถาปัตยกรรมสไตล์กัสโชซึคุรินี้ ยังคงพบเห็นได้จำนวนมากในหมู่บ้าน “ชิราคาวา” ในเขตจังหวัดกิฟู บ้านไม้ที่สร้างให้มีหลังคาทรงสูงและมีความชันถึง 60 องศาจนดูราวกับคนพนมมือนี้ คือการออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่ตอบโจทย์สภาพภูมิอากาศแบบหุบเขาที่ต้องรองรับปริมาณหิมะในหน้าหนาว รวมถึงระบายอากาศในหน้าร้อน

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว บ้านที่หันหน้าไปในทางเดียวกัน พร้อมกับหลังคาที่มีความชันเท่าๆ กันนี้จะฉายภาพไม่ต่างจากเมืองตุ๊กตาในนิทานยามที่หิมะโปรยปราย ในขณะที่สีเขียวของนาข้าวในฤดูร้อนก็ให้ทัศนียภาพสดชื่นที่สวยงามไม่แพ้กัน

ด้วยจำนวนบ้านกัสโชซึคุริที่ยังคงเหลืออยู่ถึงกว่าร้อยหลังคาเรือน ยูเนสโกจึงขึ้นทะเบียนให้ชิราคาวาโกะเป็นเมืองมรดกโลกอย่างไม่น่าแปลกใจ

แล้วอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการสร้างบ้านเรือนให้ดูเหมือนการพนมมือนี้

ด้วยหลังคาที่อาจมีความหนาถึงหนึ่งเมตรและความชัน 60 องศาดังกล่าว นั่นหมายความว่า ในช่วงที่หิมะตกหนัก มันจะไหลลงมาตามความลาดเอียงโดยไม่กองท่วมอยู่บนหลังคา ทำให้หลังคาไม่ต้องแบกน้ำหนักหิมะจำนวนมาก ทั้งยังป้องกันไม่ให้น้ำที่ละลายจากหิมะไหลซึมทะลุหลังคาบ้าน

แน่นอนว่า วัสดุที่ใช้ในการมุงหลังคาก็คือวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น อย่างเศษไม้ ฟาง ไผ่ ดินเหนียว และหญ้าคา ส่วนเทคนิคนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะคนญี่ปุ่นถนัดนักในการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการใช้ไม้ขัดกัน (และใช้เชือกมัดจนแน่น) แทนการตอกตะปู

การหันหน้าไปทางเดียวกันตามทิศทางของลมยังช่วยให้บ้านเย็นสบายในฤดูร้อนและให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว หน้าจั่วบ้านที่มีการเจาะช่องหน้าต่างในด้านตรงข้ามกันก็คือการระบายอากาศให้ถ่ายเทจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ทั้งยังช่วยรับแสงสว่างเข้ามาในตัวบ้านอีกด้วย

และเพราะสร้างบ้านให้มีหลังคาทรงสูง จึงทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นอีกหลายชั้น ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ชั้นบนก็จะใช้ในการเก็บของหรือผลผลิตจากการเกษตรนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชิราคาวาโกะเรียกร้องความสนใจจากนักเดินทางทั่วโลกก็คือ ภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือหลายๆ เล่ม เพราะนอกจากภาพที่ดูละม้ายหมู่บ้านตุ๊กตาในหน้าหนาวแล้ว ภาพที่ดึงดูดความสนใจอย่างมากก็คือ ภาพการ “มุงหลังคา” ของบ้านสไตล์กัสโชซึคุริ

ด้วยเพราะหลังคาทำมาจากวัสดุธรรมชาติ นั่นหมายถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนหลังคาใหม่ในทุกๆ 25 ถึง 35 ปี โดยการมุงหลังคาใหม่จะทำในช่วงฤดูใบไม้ผลิหลังจากที่หิมะละลายหมดแล้วนั่นเอง โดยในแต่ละปีจะมีบ้านจำนวนสองถึงสามหลังที่ถึงเวลามุงหลังคาใหม่ โดยบ้านแต่ละหลังจะใช้เวลาประมาณสามวันในการรื้อถอนหลังคาเก่า แต่จะใช้เวลาเพียงหนึ่งวันในการมุงหลังคาใหม่ให้แล้วเสร็จ

นั่นเป็นเพราะหลังคาใหม่จะถูกเตรียมเป็นมัดๆ ไว้ก่อน และเมื่อถึงเวลาลงมือ คนทั้งหมู่บ้านก็แค่รวมตัวกันมาลงแรงเท่านั้น ถือเป็นการส่งผ่านวิธีการมุงหลังคาจากรุ่นต่อรุ่นจนเป็นประเพณีนั่นเอง

ยังไม่หมดเท่านี้ ด้วยอากาศหนาวเหน็บที่ทำให้ต้องออกแบบการอยู่อาศัยเพื่อสู้กับหิมะ วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี บวกกับการใช้เตาไฟเพื่อให้ความอบอุ่นภายในบ้าน จึงหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้ทุกเมื่อ

ในปัจจุบันจึงมีการติดตั้งหัวฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวนมาก และหัวฉีดน้ำเหล่านี้จะถูกเปิดเพื่อทดสอบการใช้งานทุกปี ผลลัพธ์ก็คือ ภาพสายน้ำพวยพุ่งจากพื้นราวกับน้ำพุที่อาบทอทั้งหมู่บ้าน กลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่ช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นตั้งตารอ

จากอัจฉริยภาพของคนเมื่อหลายร้อยปี จึงกลายเป็นอัจฉริยภาพของคนรุ่นใหม่ในการส่งต่อประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นต่อไปเช่นเดียวกัน

0
0
Cet article était-il utile ?
Help us improve the site
Give Feedback

Laissez un commentaire

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.